ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ใครที่มีรถยนต์เป็นของตัวเองย่อมอยากนำรถไปแต่งเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มสมรรถนะ ทำให้รถดูสวยงาม ดูดี ไม่ซ้ำใคร โดยเฉพาะ “รถกระบะ” ที่เป็นประเภทยานยนต์ที่ได้รับความนิยมสูงในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปแต่งรถกระบะ ต้องมาดูกันก่อนว่า กฎหมายรถแต่งมีอะไรบ้าง ไขข้อสงสัย “แต่งรถกระบะผิดกฎหมายหรือไม่” ของใครหลายคน ซึ่งเราจะมาบอกคำตอบให้กระจ่างในบทความนี้
แต่งรถกระบะผิดกฎหมายหรือไม่?
อันดับแรก ต้องบอกก่อนว่า การแต่งรถกระบะหรือรถประเภทใดๆ นั้น ไม่ผิดกฎหมาย หากอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ พ.ร.บ รถยนต์กำหนด ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจแต่งรถ ควรศึกษาทำความเข้าใจข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสียก่อน โดยในวันนี้ เราได้ยกตัวอย่างลักษณะการแต่งรถกระบะที่เป็นที่นิยม พร้อมข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาฝาก
1. โหลดเตี้ยหรือโหลดสูง
หนึ่งในการแต่งรถกระบะที่หลายคนชื่นชอบคือ การโหลดเตี้ย เพราะนอกจากจะทำให้ดูดีแล้ว ยังช่วยในการยึดเกาะถนนอีกด้วย ซึ่งสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด โดยพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ระบุเอาไว้ว่า หากวัดจากกึ่งกลางไฟหน้ากับระดับพื้นถนนจะต้องมีระยะไม่ต่ำกว่า 40 ซม. หากต่ำกว่านั้นถือว่าผิดกฎหมาย
ส่วนสายลุยป่าฝ่าดงหรือลุยน้ำที่ต้องการโหลดรถให้สูงๆ ก็สามารถทำได้ แต่หากวัดจากกึ่งกลางไฟหน้ากับระดับพื้นถนนจะต้องมีระยะไม่สูงกว่า 135 ซม. ทั้งนี้ แม้จะยกสูงไม่เกินกำหนด แต่ตัวรถสูงขึ้นจากการดัดแปลงสภาพเดิม เช่น การยกตัวถัง จำเป็นต้องมีหนังสือรับรองจากวิศวกร เพื่อแจ้งกับเจ้าหน้าที่กรมขนส่งทางบก
2. เปลี่ยนท่อไอเสียรถยนต์
ท่อไอเสียรถยนต์เป็นอีกหนึ่งไอเทมที่หลายคนนิยมเปลี่ยนหรือดัดแปลง เพื่อสร้างเสียงที่แตกต่างและเพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์ เบื้องต้นการเปลี่ยนท่อไอเสียไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ต้องมีเสียงดังไม่เกิน 95 เดซิเบล หากวัดค่าเกินกว่าที่กำหนดจะมีโทษปรับสูงสุด 1,000 บาท ฉะนั้น เพื่อไม่ให้ต้องเสียค่าปรับเพิ่มเติม ควรแต่งท่อไอเสียอย่างพอดีหรือเหมาะสมจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด
3. เปลี่ยนสีรถยนต์หรือ Wrap สีรถ
แน่นอนว่าพอขับรถไปนานๆ หลายคนอาจมีความรู้สึกอยากเปลี่ยนสีเพื่อแก้เบื่อ หรือ Wrap สีรถเพื่อให้มีเอกลักษณ์แตกต่างจากรถคันอื่นบนท้องถนน โดยจากพรบ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 13 ซึ่งระบุเอาไว้ว่า “รถใดที่จดทะเบียนแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงสีของรถให้ผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้ เจ้าของรถต้องแจ้งนายทะเบียนภายในเจ็ดวันนับแต่วันเปลี่ยนแปลง” สรุปได้ว่าสามารถเปลี่ยนหรือ Wrap สีรถได้ แต่ต้องแจ้งกับกรมขนส่งภายใน 7 วัน
อีกข้อควรคำนึงในการเปลี่ยนสีรถยนต์ คือ หากเปลี่ยนสีแค่บางจุดไม่เกินพื้นที่ 30% ก็ไม่จำเป็นต้องแจ้ง เช่น เปลี่ยนสีฝาถังน้ำมัน สีมือจับประตู เป็นต้น ส่วนในกรณีที่เปลี่ยนสีกระโปรงหน้า แต่งฝาคาร์บอนฯ ที่คนหลายคนนิยมกัน จำเป็นต้องแจ้งกับกรมขนส่ง ไม่อย่างนั้นอาจได้รับโทษปรับสูงสุด 2,000 บาทเลยทีเดียว
4. การถอดเบาะหลังหรือติดตั้งโรลบาร์
โรลบาร์ (Roll Bar) หรือโรล์เคจ (Roll Cage) เดิมทีเป็นอุปกรณ์ตกแต่งเพื่อความปลอดภัย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำ ป้องกันไม่ให้ห้องโดยสารยุบตัวลงมาทับผู้โดยสาร ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ต เพื่อสร้างความปลอดภัยให้ตัวนักแข่ง ทั้งนี้ การติดตั้งโรลบาร์ไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่การนำเบาะนั่งออกเป็นการกระทำผิดกฎหมาย เพราะการติดโรลบาร์โดยส่วนใหญ่มักนำเบาะออก เพื่อเว้นพื้นที่ให้โรลบาร์ จึงเป็นเหตุให้หลายคนถูกโทษปรับกันมาแล้ว
แล้วจะติดตั้งโรลบาร์อย่างไรให้ถูกกฎหมาย? แนะนำให้ติดตั้งโรลบาร์รูปแบบ “เอ็กซ์บาร์” ที่มีลักษณะเป็นรูปกากบาท โดยไม่ต้องนำเบาะหรือแผงบุออก
5. การติดตั้งไฟส่องสว่าง
สีของไฟส่องสว่างเป็นอีกส่วนที่หลายๆ คนมักตกแต่งเพื่อความสวยงาม โดย “ไฟไอติม” หรือไฟหลากสีสัน ทั้งสีม่วง เขียว ชมพู ส้ม น้ำเงิน ซึ่งมักติดบริเวณท้ายรถ หรือติดแทนไฟเลี้ยว โดยระดับความสว่างของไฟหลากสีสันเหล่านี้อาจไปรบกวนผู้ร่วมถนน ในด้านของกฎหมาย พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ยังระบุเอาไว้อีกว่า ไฟเลี้ยวรถยนต์จะต้องเป็นแสงสัญญาณกะพริบสีอำพัน (สีเหลือง) และไฟหยุด (ไฟเบรก) จะต้องเป็นไฟสีแดงเท่านั้น หากมีการแต่งสีรถยนต์ หรือทำให้ไฟส่องสว่างกว่าเดิมอาจมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ส่วนการติดตั้งไฟหน้ารถยนต์ ควรเลือกไฟที่มีสีเหลืองอ่อนหรือสีขาวที่มีค่าความเข้มข้นของแสงไม่เกิน 55 วัตต์ โดยติดตั้งสูงจากผิวถนนไม่น้อยกว่า 40 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 1.35 เมตร ส่วนรูปแบบการกระจายแสงต้องอยู่ให้ตรงช่องจราจร และไม่รบกวนสายตาผู้ขับขี่รายอื่น
6. เสริมแหนบรถกระบะ
เจ้าของรถกระบะที่ต้องบรรทุกของหนักเป็นประจำคงสนใจเสริมแหนบ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของตัวแหนบติดรถให้สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากขึ้นตามการใช้งาน และช่วยเพิ่มพื้นที่ระยะห่างระหว่างล้อและซุ้มล้อ ซึ่งการเสริมแหนบนับเป็นการดัดแปลงโครงสร้างรถยนต์ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขับขี่และความปลอดภัย ดังนั้น ใครที่มีแผนเสริมแหนบ จำเป็นต้องนำรถไปตรวจสภาพและแจ้งแก้ไขในรายการจดทะเบียนกับกรมขนส่งเสียก่อน
7. การติดตั้งหลังคาไฟเบอร์หรือคอกบรรทุกสินค้า
สำหรับท่านใดที่ทำอาชีพขนส่งสินค้าหรืองานรับเหมาต่างๆ อาจมีแผนติดตั้งหลังคาไฟเบอร์หรือคอกกั้นเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ใหสินค้าหรือสัมภาระหล่นหายระหว่างขับขี่ ไม่ว่าจะติดตั้งแบบใด ก็ต้องแจ้งกับทางกรมขนส่ง เพื่อจดทะเบียนการต่อเติมหรือเปลี่ยนแปลงสภาพรถนอกเหนือจากที่จดทะเบียนไว้ด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องถูกโทษปรับ 2,000 บาท ส่วนรถกระบะคันไหนเสริมหลังคาแล้วมีน้ำหนักเกิน 1,600 กิโลกรัม (1.6 ตัน) ต้องเสียภาษีเป็นประเภทรถกระบะบรรทุกแทน
ส่วนในกรณีที่เจ้าของรถติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่าง แร็คหลังคาหรือฝาครอบกระบะ ไม่จำเป็นต้องแจ้งกับกรมขนส่งทางบก เพราะถือเป็นการแต่งเสริมเพียงเล็กน้อย ไม่ทำให้สภาพรถเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด
หากทำเจ้าของรถปฏิบัติตามกฎหมายแต่งรถ ก็สามารถแต่งรถกระบะตามลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นได้ทั้งหมดอย่างไร้ความกังวล ซึ่งนอกจากจะทำให้รถดูดีแล้วยังเป็นการเคารพต่อกฎหมาย ไม่เป็นการรบกวนต่อเพื่อนร่วมทาง
Mountain Top ผลิตและออกแบบอุปกรณ์ตกแต่งรถกระบะ
อุปกรณ์เสริมรถกระบะจาก Mountain Top เป็นอุปกรณ์ตกแต่งที่มีคุณภาพ ฟังก์ชันการทำงานที่ตอบโจทย์ การออกแบบที่มีสไตล์ และผ่านการทดสอบจากอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลก แร็คหลังคา ถาดสไลด์ ฝาครอบกระบะ รวมไปถึงโรบาร์ หรือแม้กระทั่งอุปกรณ์เสริม Ford Next-Gen Ranger , Toyota Hilux Revo, Isuzu D-Max และรถกระบะรุ่นอื่นๆ
สามารถติดต่อสั่งซื้อสินค้ากับตัวแทนจำหน่ายของเราทั่วประเทศ
ดูรายละเอียดตัวแทนจำหน่าย คลิก
ติดต่อ Mountain Top Thailand
เว็บไซต์: www.mountaintop.co.th/
Facebook: Mountain Top Thailand
LINE: Mountain Top TH
YouTube: Mountain Top Thailand